“ครูกล้าเปลี่ยน นักเรียนกล้าคิด/ทำ” โรงเรียนบ้านมะหงัง

โรงเรียนบ้านมะหงัง

โรงเรียนบ้านมะหงัง ตั้งอยู่ที่  หมู่ที่ 1 บ้านบ้านมะหงัง ตำบลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 64 คน โรงเรียนบ้านมะหงังตั้งอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ติดทะเลฝั่งอันดามัน ในชุมชนมีจำนวน 73 หลังคาเรือน ซึ่งคนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม อาศัยอยู่ร่วมกัน คนในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ต้องออกเรือหาของทะเลตั้งแต่ตีหนึ่ง และกลับชายฝั่งอีกทีคือช่วงบ่าย ทำให้นักเรียนต้องเดินทางมาโรงเรียนด้วยตนเอง อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่ คือ การทำประมงขนาดเล็ก ขายของทะเล และต่อยอดโดยนำมาแปรรูปซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนบ้านมะหงัง คือ กะปิ ซึ่งความพิเศษของกะปิชุมชนบ้านมะหงังคือไม่ใช้เครื่องจักรในการผลิต แต่ผลิตขึ้นด้วยการทำทุกขั้นตอนด้วยมือ ของขึ้นชื่ออีกอย่างของชุมชนบ้านมะหงัง คือ กุ้งแห้ง ซึ่งวัตถุดิบคือกุ้งสดในพื้นที่จากทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล มีความสด ปลอดภัย และเป็นของขึ้นชื่อของชุมชนบ้านมะหงังเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีสินค้าแปรรูปจากปลาตัวเล็กที่จับได้มาแปรรูปเป็น ปลาเค็ม ปลาหวาน เป็นต้น  โรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญในการประกอบอาชีพของชุมชน จึงอยากให้นักเรียนร่วมอนุรักษ์และสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนไว้ การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งเน้นให้นักเรียนรู้จัก อนุรักษ์อาชีพในท้องถิ่นตน เพื่อในอนาคตจะได้มาพัฒนาและสืบสานเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนสืบไปโรงเรียนบ้านมะหงัง

เนื่องด้วยต้องการให้นักเรียนมีความสนุกสนานกับการเรียน กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และต้องการให้นักเรียนมีทักษะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และให้ครูยอมรับการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาสมัยใหม่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นางวิรัตน์  เมืองแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะหงัง สมัครเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เดิมที่เป็นครูสอนอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับเสียงสะท้อนจากนักเรียนว่าเบื่อการจัดการเรียนการสอนที่ต้องนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องเรียน จึงมีความคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนานกับการเรียน และเมื่อได้เป็นผู้อำนวยการบรรจุที่โรงเรียนบ้านมะหงังแล้วก็ยังพบว่ามีนักเรียนบางคนที่ไม่สนใจเรียน มีแววตาที่เบื่อหน่ายเวลาเรียน ยิ่งทำให้เกิดความคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียนและมีการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน และได้รู้ว่ามีการจัดประชุมและเผยแพร่วิชาการของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเข้าร่วมรับฟังและทำให้รู้สึกว่าโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตอบโจทย์ความต้องการเป็นอย่างมาก จึงจัดประชุมครูและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อเสนอให้พิจารณาเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 

เป้าประสงค์ของการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียน มีความสนุกสนานกับการเรียน กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับครู ให้ครูกล้าที่จะเปลี่ยน กล้ายอมรับการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาสมัยใหม่ แต่เนื่องจากโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีมาก่อนหน้านี้แล้ว และโรงเรียนบ้านมะหงังสมัครเข้ามาเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษารุ่นที่ 2 จึงทำให้แรกเริ่มยังไม่เข้าใจกระบวนการมากนัก แต่ด้วยความสนใจและชื่นชอบนวัตกรรมการสอนจึงได้ส่งครูเข้าร่วมอบรมเรื่องของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หลังฝึกอบรมครูได้เทคนิค วิธีการ การจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ มีความเท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งปัจจุบันครูปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการสอน และพัฒนาตนอยู่เสมอ

การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านมะหงัง

โรงเรียนบ้านมะหงังให้นักเรียนเรียนโดยใช้ DLTV และนวัตกรรม “ครูสามเส้า” ที่เป็นนวัตกรรมหลักของจังหวัดสตูล การจัดการเรียนการสอน ในช่วงเช้าจัดการสอนโดยเน้น 4 กลุ่มสาระหลัก ช่วงบ่ายจะสอนแบบบูรณาการอีก 4 กลุ่มสาระ และจะมีการสอนเรื่องโครงงานฐานวิจัย นักเรียนนำเสนอข้อมูลศึกษาในชุมชน และเมื่อได้สิ่งที่สนใจก็เข้าสู่กระบวนการศึกษาค้นคว้าและวางแผนร่วมกันกับครู เมื่อได้เรื่องที่สนใจเมื่อถึงเวลาต้องลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติจริงก็จะพานักเรียนไปดู ไปปฏิบัติจริง เพื่อนักเรียนจะได้เห็นและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งครูจะสวมบทบาทเป็นพี่เลี้ยงคอยชง และส่งคำถามกระตุ้นคิดให้นักเรียนอยู่เสมอ หลังจากนั้นนักเรียนจะนำข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้ามาหลอมรวมเพื่อวิเคราะห์และสรุปผลที่ได้เรียนรู้มา และนำข้อมูลเหล่านั้นมานำเสนอซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่นักเรียนต้องทำในการเรียนโครงงานฐานวิจัยเรื่องหนึ่ง และนักเรียนนำความรู้ที่ได้มาสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ โดยร่วมกันผลิตสินค้าเพื่อวางขายและเมื่อสิ้นปีจะมีการแบ่งกำไรที่ได้ให้นักเรียนทุกคนอีกด้วย

“ครูสามเส้า” เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการโครงงานฐานวิจัย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครองต้องร่วมมือกันในการสอน ให้ความรู้ เป็นครูให้แก่นักเรียน ด้วยบริบทของโรงเรียนบ้านมะหงังเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนมีครูไม่ครบชั้น ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการครู 5 คน พนักงานราชการ 1 คน ครูลูกจ้างที่โรงเรียนจ้างเอง 1 คน และจะมีวิทยากรหรือครูชุมชนร่วมให้ความรู้นักเรียนสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ คนในชุมชนให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเป็นอย่างดีมาก ยินดีเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัด และยังร่วมด้วยช่วยกันปรับภูมิทัศน์ให้โรงเรียนน่าอยู่โดยสมัครใจอีกด้วย  บ้านมะหงังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่สวยงามให้นักเรียนได้รู้จัก เรียนรู้ และร่วมอนุรักษ์ไว้ ซึ่งในการไปศึกษาตามแหล่งต่าง ๆ  จะมีวิทยากรท้องถิ่นคอยให้คำแนะนำ และให้ความรู้กับนักเรียนอยู่เสมออีกด้วย ทุกการเรียนรู้คนในชุมชนบ้านมะหงังร่วมมือร่วมใจให้ความรู้แก่นักเรียน ถือได้ว่าโรงเรียนบ้านมะหงังได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน 100% ได้เลย

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน คือ นักเรียนรู้สึกสนุกสนานในการเรียน กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก สนใจค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง แต่โรงเรียนมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์น้อย เมื่อต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงใช้วิธีแบ่งกลุ่มให้นักเรียนไปใช้ห้องคอมพิวเตอร์ได้ทีละกลุ่ม ในการทำงานของนักเรียนในการสืบค้นข้อมูลทำให้ได้ทักษะการอ่าน และได้ทักษะการเขียนจากการบันทึก การสรุปงานด้วย ทำให้นักเรียนสามารถคิด วิเคราะห์ เขียน อ่าน ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถนำเสนอโครงงานฐานวิจัยของตนเองและทำมันอย่างมั่นใจ นักเรียนรุ่นพี่สามารถนำเรื่องราวไปถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆให้นักเรียนรุ่นน้องได้ และสิ่งสำคัญคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู คือ ครูได้เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ร่วมไปกับนักเรียนด้วย สามารถนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการเรียนการสอนได้ ครูสามารถเปลี่ยนบทบาทตนเองมาเป็นพี่เลี้ยงให้กลับนักเรียน สรุปได้ว่าครูมีความกล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนและผู้ปกครอง คือ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน 100% และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำให้โรงเรียนบ้านมะหงังสามารถพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนไปได้อย่างมั่นคง และจะพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน: นิฎฐา ขุนนุช
ผู้ให้สัมภาษณ์: วิรัตน์ เมืองแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะหงัง
ผู้สัมภาษณ์: 
นิฎฐา ขุนนุช
กราฟิกดีไซน์เนอร์: 
อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: 
ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: 
โรงเรียนบ้านมะหงัง
ที่มา: https://www.edusandbox.com/12th-oct-banmahang-school/