ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานอันเป็นรากฐานของการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ มีความใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้ มีความเท่าทันโลก มีทักษะในการประกอบอาชีพตามความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน และให้รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ ลดความเลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงได้จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการการศึกษาขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา เพื่อเป็นการนำร่องในการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ ลดความเลื่อมล้ำ รวมทั้งมีการขยายผลนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น
” ส่งเสริมการกระจายอำนาจ เน้นกลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน เพิ่มความอิสระคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา “
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 7 ปี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการ โดยให้การขยายเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้การกระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งหนึ่งไม่เกิดเจ็ดปี มีจำนวน 51 มาตรา ใน 5 หมวด ประกอบด้วย
- หมวด 1 การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- หมวด 2 คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- หมวด 3 การบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- หมวด 4 สถานศึกษานำร่อง
- หมวด 5 การประเมินผล
ดาวน์โหลดเอกสาร พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ไดัที่
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0102.PDF